เมื่อความวิตกกังวลเกิด




วิตกกังวล (Anxiety) เป็นอารมณ์อันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากความยุ่งเหยิงภายในจิตใจ มักเกิดขึ้นพร้อมกับพฤติกรรมทางประสาท อาทิ ความแปรปรวนทางอารมณ์, ความวิตกกังวลทางกาย และภาวะคิดรำพึง

ความวิตกกังวลเป็นรู้สึกเชิงลบที่เป็นนามธรรม เกิดขึ้นได้เมื่อครุ่นคิดคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ แม้กระทั่ง ความวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอาจส่งผลต่อไปในอนาคตที่จะตามมา

ความวิตกกังวลเป็นความรู้สึกกระวนกระวายและกังวลใจ ผู้มีอาการนี้มักจะตอบสนองต่อภาวะถูกคุกคามต่างๆอย่างเกินจริง

ความอันตรายของความรู้สึกแบบนี้ก็คือ ถ้าปล่อยให้มันเกาะกินใจไปมากๆ หรือ ปล่อยใจให้ดำดิ่งไปกับมหาสมุทรความวิตกกังวล จนถึงขั้นอาจจะก่อให้เกิดความวิตกจริตไปกับเรื่องราวข้างเคียงอื่นเพิ่มมากขึ้นแล้วละก็
มันจะทำร้ายจิตใจ บั่นทอนความรู้สึกของตัวเรา ให้เกิดอาการเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือบางครั้งก็หมดกำลังใจกับชีวิตไปเลยก็มี
แถมบางครั้ง มันอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายภายนอกทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้อีกด้วย

ในห้วงของความวิตกกังวลนี้ จะมีใครสักกี่คนที่จับความรู้สึกเหล่านั้นของตัวเองได้ และ จะมีใครสักกี่คนที่พาตัวเอง ออกจากความรู้สึกกังวลทั้งที่สมเหตุสมผลบ้าง หรือ ความวิตกที่เกินเลยเหตุผลไปบ้าง ได้อย่างถูกจังหวะ ถูกเวลา และ ทันท่วงที
ก่อนที่จะเลยเถิดไปไกล จนการควบคุมมันผ่านสมองและสติไม่ยอมทำงานเลย และปล่อยให้ความรู้สึกนำพา พร้อมทั้งหาเหตุผลประกอบด้วยว่า ก็มันรู้สึกแบบนั้น ใครจะไปห้ามหรือหยุดมันได้

ทุกสิ่งที่ส่งผ่านเข้ามาหรือออกไปจากตัวเรา น่าจะมีหนทางที่ควบคุมได้บ้างซินะ

หรือมันอาจขึ้นอยู่กับ
1. เราสามารถจับความรู้สึกวิตกกังวลเหล่านั้นได้ทันหรือเปล่า

2. หลังจากจับความรู้สึกวิตกกังวลได้ทันแล้ว เราคิดจะควบคุมมันหรือเปล่า หรือ พยายามแค่ไหนในการพาตัวเองออกไปจากความรู้สึกยุ่งเหยิงใจแบบนี้หรือเปล่า

3. เราได้คิดวิเคราะห์ พิจารณาไตร่ตรองถึงเหตุและผล ที่มาที่ไปของสิ่งที่วิตกกังวล ได้ครบถ้วนว่ามันควรปล่อยให้มันเกิดขึ้น หรือมีหนทางแก้ไขสิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลนี้ให้หมดไปได้หรือเปล่า

4. และสุดท้าย เราปล่อยให้ตัวเองเป็นธาตุอารมณ์ ทำตามความรู้สึกนึกคิดที่ประสาทสัมผัสรับรู้มาอย่างผิวเผินเกินไปหรือเปล่า จนไปจบลงที่เหตุผลสนับสนุนที่ว่า ก็นิสัยคนเราเป็นแบบนี้ คิดและรู้สึกแบบนี้ จะเปลี่ยนได้ง่ายๆที่ไหนกัน

ถ้าวันนี้คุณมีความวิตกกังวลบางอย่าง
คุณจับทางความรู้สึกนั้นได้ทันหรือเปล่า?

ถ้ารู้สึกได้ถึงความวิตกกังวลเหล่านั้นแล้ว
คุณยับยั้งช่างใจ ในการปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ครอบงำใจคุณ จนไม่ควบคุม หรือ ตั้งใจพาตัวเองออกมาจากความรู้สึกนั้น มากพอหรือเปล่า

ความวิตกกังวลบางเรื่อง ก็สามารถมีทางออก หรือวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายแสน
ความวิตกกังวลบางเรื่อง ก็อาจต้องใช้เวลาในหาหนทางแก้ปัญหา เพื่อคลายความกังวลให้หายไปได้

ยิ่งมีความรู้สึกตัวกับความวิตกกังวลได้เร็วเท่าไหร่
รู้สาเหตุของความวิตกกังวลงั้นได้ทันท่วงทีเท่าไหร่
ก็น่าจะให้เวลาสติได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ในการพาตัวเองไปสู่วิธีทางแก้ไขปัญหาของความวิตกกังวลได้เร็วเท่านั้น

แต่บางครั้งกว่าจะไปปลายทางของการแก้ไขปัญหาความกังวลเหล่านั้น จุดเริ่มต้นแรกที่น่าสนใจพึงกระทำ คือ อย่าให้ปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความยุ่งเหยิงภายในจิตใจ ความรู้สึกกระวนกระวายและกังวลใจ นานเกินพอดี

เพราะความรู้สึกวิตกกังวลเหล่านั้น ทั้งก่อกวนจิตใจ และ ทำร้ายความรู้สึกเรา ให้หมดเปลืองเวลาไปอย่างน่าเสียดาย เช่นกัน

ความรู้สึกเหล่านี้ผ่านเข้ามาในชีวิตของคนเราได้เสมอ ยิ่งฝึกปรือให้มาก พยายามทำให้บ่อย คอยฝึกฝนไปทีละเล็กละน้อย น่าจะทำให้เรามีความรู้สึกตัวกับอารมณ์ไม่พึงประสงค์อย่างวิตกกังวลได้ดีเท่านั้น

เมื่อความวิตกกังวลเกิดต่อไปครั้งใด เราจะอยู่กับมันได้อย่างเข้าใจ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

ปล. ขอบคุณข้อมูลจาก wiki

by H’esdy
https://www.facebook.com/HappyEverySingleDay/
hesdyme.blogspot.com

ความคิดเห็น